#GavinApologizeToLeejungjae เป็นแฮ็ชแท็กที่ตั้งขึ้นมาหลังจากที่ “กวินท์ ดูวาล” ศิลปิน/นักร้อง อดีตสมาชิกวง 3.2.1 ได้โพสต์รูปภาพเป็นมีมเกี่ยวกับเกมแกะน้ำตาล ในซีรีส์ที่เป็นกระแสฮิตไปทั่วโลกอย่าง “สควิด เกม”

โดยเป็นโพสต์ที่สื่อไปในทางสองแง่สองง่ามที่ชาวเน็ตหลายคน รวมทั้งแฟนคลับลีจองแจมองว่าไม่เหมาะสม ทั้งในฐานะของการเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและในฐานะคนธรรมที่กำลังจะเป็นพ่อคน พร้อมกับเรียกร้องให้กวินท์ลบรูปภาพนี้ออก พร้อมกับแสดงความขอโทษต่อลีจองแจ จนเกิดเป็นแฮ็ชแท็กเดือดในทวิตเตอร์ ทำให้ผู้คนออกมาวิจารณ์เปรียบเทียบกรณีนี้กับเหตุการณ์อื่น ๆ ร่วมด้วยอย่างกว้างขวาง

วิเคราะห์เรื่อง “เพศ” เป็นเรื่องที่ควรพูดให้เหมาะสมในแง่ใดบ้าง?
เรื่องเกี่ยวกับ เพศ ฐานะ ศาสนา และความเชื่อ ถือเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและมีเส้นบาง ๆ คั่นกลางระหว่างความจริงกับความเหมาะสม ซึ่งเราต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรานั้น นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ และยืดถือศาสนาประจำชาติมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับการอบรมเลี้ยงดูจากสถาบันครอบครัวไทยสไตล์ ที่ไม่ชอบให้ลูกพูดเรื่องเพศ หรือเขินอายที่จะตอบคำถามเรื่องความอยากตามเพศสภาพ อันเป็นเรื่องธรรมชาติที่มนุษย์ และสัตว์โลกมีมาเป็นเรื่องปกติ
อีกทั้งหญิงไทยยังถูกปลูกฝังให้รักนวลสงวนตัว หลีกห่างจากเพศตรงข้าม ค่อยเป็นไป และอาจมีการเลือกคู่ที่เหมาะสมให้กับลูกสาว ซึ่งเรียกว่า “การคลุมถุงชน” นั่นเอง
ฉะนั้น การที่จู่ ๆ ในสังคมไทยได้เกิดประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ และยังเกิดจากกวินท์ ซึ่งเป็นศิลปินมีชื่อเสียงทั้งไทยและต่างประเทศ จึงก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อคนที่มองในเรื่องความเหมาะสมและมารยาททางสังคม
ส่วนตัวผมไม่แปลกใจเลยว่ากวินท์จะโดนถล่มแบบข้ามวันข้ามคืน ในขณะที่คนบางกลุ่มอาจรู้สึกหัวเราะ ตลกขบขัน หรือมองเป็นเรื่องสนุกสนาน เพราะเรื่องสองแง่สองง่ามแบบนี้อยู่คู่กับสังคมมาโดยตลอดอย่างที่เราไม่ทันสังเกตุ ตัวอย่างเช่น คนไทยในสมัยก่อนจะใช้คำว่า “โล้สำเภา” แทนการทำกิจกรรมการมีเพศสัมพันธ์
หรืออาจพบได้ในปัญหาเชาว์ชาวบ้าน โดยผมเองได้ยินมาตั้งแต่เด็กล้วนเป็นคำถามแนวสองแง่สองง่าม เช่น อะไรเอ่ย เข้าก็มีน้ำ ออกก็มีน้ำ หากตอบแบบฉับไว หลายคนคงตอบไปที่เรื่องอย่างว่าแล้วใช่มั้ยครับ แต่คำตอบจริง ๆ แล้ว คือ “การแปรงฟัน” ต่างหาก

เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว หลายคนก็คงตั้งคำถามว่า แล้วเรื่อง “เพศ” หรือ “อวัยวะเพศ” เป็นเรื่องที่ควรพูดให้เหมาะสมในแง่ใดบ้างใช่มั้ยครับ
ถ้าหากในสังคมไทยนั้น ผมมองว่าเราควรพูดได้อย่างเปิดเผยในแง่ของการแนะนำ หรือให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา แต่ในแง่ของการเล่นสนุกสนานให้เกิดเสียงหัวเราะขำขัน ควรพูดหรือเล่นในแง่ของกลุ่มเพื่อนสนิทที่สนิทมาก ๆ เท่านั้น เพราะการพูดเรื่องแบบนี้ออกสื่อสาธารณะชน ย่อมทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นสองฝ่ายอยู่ดี ซึ่งหากอยู่ในแถบตะวันตก ต่างชาติคงจะมองเป็นเรื่องปกติทั่วไปและแทบจะไม่ให้ความสนใจใด ๆ กับประเด็นแบบนี้เสียด้วยซ้ำ
#GavinApologizeToLeejungjae บทเรียนเรื่องการใช้สื่อของผู้ที่มีชื่อเสียง!
ในกรณีของ “กวินท์” ผมมองว่ามันไม่เหมาะสมจริง ๆ และมีความคิดเห็นตรงกันกับหลาย ๆ คนที่บอกว่า ถ้าอยากทำมีมแบบนี้ ก็ควรที่จะตัดต่อใบหน้าตัวเองใส่ลงไปแทนหน้านักแสดงจริงอย่าง “ลีจองแจ”
เพราะเป็นการสื่อโดยตรงว่า ตัวคุณเองมีความต้องการตามรูปภาพ ไม่ใช่ยัดเยียดความต้องการนั้นให้กับนักแสดงในรูปภาพครับ แต่ในทางกลับกัน หากกวินท์เป็นแค่คนธรรมดาทั่วไป ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีคนรู้จัก การโพสต์แบบนี้ก็คงไม่เป็นกระแสและไม่มีคนพูดถึงเช่นกัน
ซึ่งหากมองในฐานะชายคนหนึ่งที่กำลังจะเป็นพ่อคน การวางตัวในสังคม ก็ควรเป็นเรื่องที่ต้องฝึกไว้ เผื่อในวันหนึ่งที่ลูกโตขึ้น จะได้ไม่มีใครขุดเรื่องนี้มาเพื่อล้อเลียนลูกของคุณเองได้ครับ
#GavinApologizeToLeejungjae จึงเป็นบทเรียนสำคัญให้กวินท์และผู้มีชื่อเสียงอื่น ๆ ในสังคมไทยได้เรียนรู้ศึกษาเป็นกรณีตัวอย่างของการใช้สื่อโซเชี่ยลมีเดีย และการคิดไตร่ตรองก่อนที่จะโพสต์ข้อความใด ๆ ถึงแม้ว่าในตอนนี้เจ้าตัวจะไม่ได้มีการออกมากล่าวต่อเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ก็ตาม
แหล่งที่มารูปภาพ
https://web.facebook.com/photo/?fbid=405153470963432&set=a.326771888801591
https://www.sanook.com/news/8454302/
ข่าวที่อาจสนใจ Watermelon sugar เมื่อเซ็กส์สวยงามไม่ได้มีดีแค่บทเพลง